Detective Dee: The Four Heavenly Kings
ชื่อเรื่อง ตี๋เหรินเจี๋ย ปริศนาพลิกฟ้า 4 จตุรเทพ
ประเภท แอ็คชั่นแฟนตาซี
กำหนดฉาย 23 สิงหาคม
บริษัทจัดจำหน่าย โมโนฟิล์ม
อำนวยการสร้าง เฉินกั๋วฟู่ (Chen Kuo-FU)
กำกับ ฉีเคอะ
ผู้ออกแบบฉาก หลิน เฟิง (Lam Fung)
แสดงนำ เจ้า โย่วถิง (Mark Chao) , เฝิง เส้า เฟิง (Feng Shaofeng) , หลิน เกิงซิน (Lin Gengxin) , หลิวเจียหลิง (Carina Lau) , หม่าซือฉุน (Ma Sichun) , หร่วน จิงเทียน (Ethan Ruan)
เรื่องย่อ
หลังจากที่ ตี๋เหรินเจี๋ย คลี่คลายปริศนาของมังกรทะเล (Sea Dragon) ในตอบจบของภาคก่อน อวี้จื้อเจินจิน (Yuchi Zhenjin) ได้ถูกย้าย และรับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเดอะโกลเด้นการ์ด ส่วน ตี๋เหรินเจี๋ยได้รับความไว้วางใจจากจักรพรรดิเกาจง ให้เป็นหัวหน้าหน่วยสอบสวนและพระราชทานพลองมังกร เพื่อสามารถลงโทษทุกคนที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศไม่เว้นแม้แต่ราชวงศ์ ทำให้จักรพรรดินีบูเช็กเทียน (Empress Wu) รู้สึกโดนคุกคาม จึงวางอุบายเพื่อหลอกล่อตี๋เหรินเจี๋ยเพื่อขโมยพลองและโยนความผิดให้เขา งานนี้ ตี๋เหรินเจี๋ยต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายจากจักรพรรดินี บูเช็กเทียน
เกี่ยวกับภาพยนตร์
ภาพยนตร์เรื่อง Detective Dee and the Mystery of the Phantom Flame (ตี๋เหรินเจี๋ย ดาบทะลุคนไฟ) เปิดตัว ในปี 2010 และเริ่มต้นเรื่องราวเป็นเรื่องแรกของซีรีย์นี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำภาพยนตร์แอคชั่นแบบเน้นศิลปะการป้องกันตัวแบบจีนกลับเข้าสู่หัวใจคนดูอีกครั้ง ซึ่งภาพยนตร์ไม่เพียงแค่เป็นขวัญใจคนดู ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในสายประกวดในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 67 และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอันทรงเกียรติระดับโลกอีกกว่า 20 รางวัลทั่วโลก ภาพยนตร์ชนะรางวัล ผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director) และ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress) จากรางวัลภาพยนตร์ฮ่องกงครั้งที่ 30 มาได้อีกด้วย
ภาพยนตร์ Detective Dee ทั้งสองเรื่องแรกต่างเข้าฉาย และทำเงินสูงสุดเป็นหนึ่งในห้าอันดับภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดในปีที่ออกฉาย เมื่อจบการฉายในโรงภาพยนตร์ ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องทำเงินรวมไปกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐจากการเข้าฉายในหลายประเทศทั่วโลก และได้กลายมาเป็นหนึ่งในภาพยนตร์แอคชั่นแฟรนไชส์ที่ถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์จีน
หลังจากการเตรียมงานมา 5 ปี ภาพยนตร์เรื่อง Detective Dee ภาคใหม่พร้อมแล้ว ที่จะกลับมา และจะทำให้คุณต้องทึ่งกับภาพในจอแบบที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อนในโรงภาพยนตร์
เรื่องย่อ
หลังจากที่ ตี๋เหรินเจี๋ย คลี่คลายปริศนาของมังกรทะเล (Sea Dragon) ในตอบจบของภาคก่อน อวี้ชื่อเจิ้นจิน (Yuchi Zhenjin) ได้ถูกย้าย และรับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเดอะโกลเด้นการ์ด หน่วยทหารที่มีหน้าที่รับผิดชอบความปลอดภัยของราชวงศ์ จักรพรรดิ เกาจง (Gaozong) ได้แต่งตั้ง ตี๋ เหรินเจี๋ย (Dee Renjie) ให้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าหน่วย ต้าหลี่ซื่อ (Dalisi) หรือกระทรวงสอบสวน (Department of Investigation) และได้พระราชทาน พลองมังกร (Dragon Taming Mace) ให้ ตี๋ เหรินเจี๋ย เป็นผู้ครอบครองด้วย ซึ่งผู้ครอบครองพลองนี้ สามารถลงโทษทุกคนที่ทำตัวเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศได้ แม้ผู้นั้นจะเป็นแค่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเป็นถึงสมาชิกของราชวงศ์ก็สามารถโดนพลองปราบได้
จักรพรรดินีบูเช็กเทียน (Empress Wu) รู้สึกโดนคุกคามโดยอำนาจของพลองนี้ เพราะเธอรู้ดีว่าพลอง เป็นสิ่งที่ จักรพรรดิ เกาจง ใช้เพื่อสร้างสมดุลระหว่างอำนาจของเธอและองค์จักรพรรดิ ศาลจักรพรรดิเองก็มีท่าทีต่อต้านเธอด้วย
จักรพรรดินีบูเช็กเทียน มีที่ปรึกษาในเรือนจำหลวงนามว่า ผู้สูงศักดิ์ที่โดนตราหน้า (The Defaced Noble) ผู้ชายคนนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาแปดแผนภาพ และสามารถทำนายอนาคตได้ เขาได้ทำนายไว้ว่าจักรพรรดินีบูเช็กเทียน จะได้ปกครองราชวงศ์ถัง และศัตรูคนเดียวที่จะขวางทางพระองค์คือ ตี๋ เหรินเจี๋ย นั่นเอง
จักรพรรดินีบูเช็กเทียน จึงได้รับสั่งให้ อวี้ชื่อเจิ้นจิน ตามหากลุ่มนักเวทย์นามว่า ผู้ลี้ลับ (The Mystics) ซึ่งประกอบไปด้วย ภาพลวงตา (Illusion), อสุรกาย (Spectre), กายแฝง (Obscure), วิญญาณ (Ghost) และเงาดำ (Shadow) จักรพรรดินีบูเช็กเทียนสั่งให้พวกเขาชิง พลองมังกร จาก ตี๋เหรินเจี๋ย เพราะหาก ตี๋เหรินเจี๋ย รักษา พลองมังกร ไว้ไม่ได้ เขาจะถูกลงโทษและโดนกำจัดออกจากวังอย่างง่ายดาย
ตี๋ เหรินเจี๋ย ตระหนักถึงภัยคุกคามจากจักรพรรดินีบูเช็กเทียน เขาจึงเอาพลองไปซ่อน และหลอกว่าจะเดินทางออกไปจากเมืองลั่วหยาง และกลับไปบ้านเกิดของเขา แต่อันที่จริงแล้ว เขายังแอบซ่อนตัวอยู่ในห้องลับภายใน กระทรวงสอบสวนนี่เอง และเขาไม่หยุดเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของจักรพรรดินีบูเช็กเทียน ผู้ซึ่งล้มเหลวในการขโมยพลอง แต่พระองค์ก็ใช้โอกาสที่ตี๋ เหรินเจี๋ยหลบซ่อนตัวนี้ให้เป็นประโยชน์ได้ ด้วยการอ้างเหตุผลการหายตัวไปของ ตี๋ เหรินเจี๋ย และเข้าควบคุมกระทรวงสอบสวนด้วยพระองค์เอง
พระจักรพรรดินีบูเช็กเทียน แนะนำให้จักรพรรดิเกาจง แต่งตั้งให้ นักเวทย์ภาพลวงตา ให้ขึ้นเป็นนักเวทย์แห่งชาติ นักเวทย์ภาพลวงตาทำเวทมนตร์ต่อหน้าพระพักตร์ราชินี แต่กลับกลายเป็นการเสกให้รูปปั้นมังกรบนเสาในวังกลับมีชีวิตขึ้น และบินตรงเข้าเผา นักเวทย์วิญญาณ (Ghost) จนกลายเป็นขี้เถ้า และกิน นักเวทย์กายแฝง (Obscure) เข้าไป ก่อนที่จะเหินบินทะลุเพดานขึ้นไปท้องฟ้า จักรพรรดิเกาจง ตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้า อวี้ชื่อเจิ้นจิน (Yuchi Zhenjin) พยายามเข้าปกป้ององค์จักรพรรดิและพบว่านักเวทย์ภาพลวงตา (Illusion) ได้หายตัวไปต่อหน้าต่อตา
อวี้ชื่อเจิ้นจิน (Yuchi Zhenjin) ไล่ตามผู้ต้องสงสัยออกไปนอกห้องโถงวัง และเห็นผู้ชายคนหนึ่งกำลังฆ่ากองกำลังโกลเด้นการ์ด แต่เมื่อชายคนนั้นเดินกลับมาในห้อง เขากลับกลายเป็น อวี้ชื่อเจิ้นจิน (Yuchi Zhenjin) เอง ทำให้ อวี้ชื่อเจิ้นจิน (Yuchi Zhenjin) ถูกจับในข้อหาฆาตกรรมโกลเด้นการ์ด ตี๋เหรินเจี๋ยต้องแก้ปริศนาที่อยู่เบื้องหลังคดีลึกลับนี้ และปกป้องราชวงศ์ถัง ในขณะเดียวกับที่เขาต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายจากจักรพรรดินีบูเช็กเทียน
ตำนานนักสืบตี๋เหรินเจี๋ย
นักสืบตี๋เหรินเจี๋ย ไม่ใช่แค่ชื่อที่คนจีนทุกคนรู้จักกันดี แต่เขายังกลายมาเป็นแรงบันดาลใจของนักเขียนชาวตะวันตกหลายท่าน ตี๋เหรินเจี๋ยมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เขาเกิดในปี 630 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นลูกชายของปราชญ์ ตี๋เหรินเจี๋ยเสียชีวิตในปี พ.ศ. 700 ก่อนคริสตกาล ตำแหน่งสูงสุดก่อนเสียชีวิตของตี๋เหรินเจี๋ยได้เป็นถึง ผู้ว่าการรัฐ ประวัติชีวิตของตี๋เหรินเจี๋ยได้ถูกกล่าวถึงอย่างละเอียดในหนังสือ “ประวัติศาสตร์เก่าสมัยราชวงศ์ถัง” เขียนโดย จิ้วถังซู (Jiu Tangshu) ตีพิมพ์ในปี 945 และใน “ประวัติใหม่ของราชวงศ์ถัง” เขียนโดย ซินถังชู (Xin Tangshu) ตีพิมพ์ในปี 1060 อย่างไรก็ตามยังไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องราวที่แท้จริงของเขาในช่วงเวลาที่เขารับตำแหน่งเป็น ผู้พิพากษาประจำอำเภอ ซึ่งเป็นช่วงผู้คนชื่นชอบ และมีการเล่าเรื่องในหลายรูปแบบ ทำให้เขาได้รับความนิยมมากที่สุด
ผู้พิพากษา ตี๋เหรินเจี๋ย กลายมาเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชมยุคใหม่ โดยต้องให้เครดิตจากความคิดที่เริ่มมีที่มาจาก นักการฑูตชาวดัชท์ โรเบิร์ต ฟาน กูลิค (Dutch Diplomat Robert Van Gulik [1910-1967]) ในขณะที่เขามาประจำการในประเทศจีนและญี่ปุ่น ฟาน กูลิค ได้ยินเรื่อง นิยายอาชญากรรม ซึ่งผูกพันกับประวัติศาสตร์ในภูมิภาคแถบนี้ทั้งในญี่ปุ่น และจีนอย่างน่าสนใจ และฟานมีความตั้งใจอยากสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการฟื้นคืนความนิยมของคนอ่านต่อนิยายแนวนี้มากขึ้น ฟานเริ่มทำความคิดของเขาให้เป็นจริงโดยการหยิบนิยายภาษาจีนมาแปล และเขาเริ่มแปลนิยายเรื่อง “Dee Goong An” หรือ “คดีที่มีชื่อเสียงของผู้พิพากษาตี๋เหรินเจี๋ย” ที่ถูกแต่งขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 ฟาน กูลิคได้สานต่อความหลงใหลในโลกของนักสืบตี๋เหรินเจี๋ยแห่งราชวงศ์ถังที่เขาได้ลงมือแปล และสุดท้าย เขาได้เริ่มลงมือเขียนนิยายชุดเรื่อง ผู้พิพากษาตี๋เหรินเจี๋ย ของเขาเอง (Judge Dee) โดยนิยายจากจินตนาการของ ฟาน กูลิค ได้รับการตีพิมพ์รวมเป็นจำนวน 25 เล่ม โดยนิยายชุดนี้ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในฉบับแปลทั้งในรูปแบบของภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีน และต่อมาได้จัดพิมพ์ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาเดิมจากต้นฉบับที่ ฟาน กูลิค ได้แต่งขึ้น
เรื่องราวของตี๋เหรินเจี๋ยในจินตนาการของ นักการฑูตชาวดัชท์ ฟาน กูลิค ครอบคลุมเวลาตั้งแต่ช่วงปี 663 ถึง 681 ก่อนคริสตกาล โดยเรื่องราวในนิยายเริ่มต้นในช่วงที่ตี๋เหรินเจี๋ย ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาในเขตมณฑลซานตุง (Shantung) และการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ในสายงานไปยังอีก 4 ตำบลจนถึงช่วงที่ตี๋เหรินเจี๋ยได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้พิพากษาแห่งวังหลวง ภาพยนตร์เรื่องแรก Detective Dee and the Mystery of the Phantom Flame (ตี๋เหรินเจี๋ย ดาบทะลุคนไฟ) เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณแปดหรือเก้าปีหลังจากตอนจบในนิยายของ ฟาน กูลิค ส่วนภาพยนตร์เรื่องที่ 2 “Young Detective Dee: Rise of the Sea Dragon” เล่าเรื่องก่อนนิยายชุดนี้ และใน ภาพยนตร์เรื่องใหม่ “Detective Dee: The Four Heavenly Kings” จะเป็นการเล่าเรื่องราวต่อจากภาพยนตร์เรื่องที่สองนั่นเอง
หลังจากผลงานของฟาน กูลิค เรื่องราวการผจญภัยของตี๋เหรินเจี๋ย ยังถูกหยิบมาตีความโดยนักเขียนหลายเชื้อชาติ ตั้งแต่นักเขียนชาวฝรั่งเศส เฟรเดริค เลนอร์มอง (Frédéric Lenormand) ผู้แต่งนิยาย 13 เล่ม และรวมถึงนักเขียนชาวจีน-อเมริกัน จู้ เซียวตี (Zhu Xiaodi) ในเรื่องสั้นเรื่อง “Tales of Judge Dee”(2006) และผลงานจากเอเลนอ คูนี และแดเนียล อัลเทียรี (Eleanor Cooney and Daniel Altieri’s) กับนิยายเรื่อง “Deception: A Novel of Mystery and Madness in Ancient China”(1994) และนิยายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของ ตี๋เหรินเจี๋ย อย่าง “Stonecutter’s Story”(1988) ของนักเขียนเฟรด ซาเบอฮาเกน และยังพบได้ในนิยายวิทยาศาสตร์คลาสสิกเรื่อง “The Diamond Age” (1995) ของนีล สตีเฟนสัน (Neal Stephenson)
ราชวงศ์อันสูงศักดิ์
เรื่องราวของราชวงศ์ถัง ( 618-907 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นยุคที่น่าสนใจที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน ราชวงศ์ถังก่อตั้งทันทีหลังจากการล่มสลายของ ราชวงศ์ซุย (581-618 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นยุคที่สามารถรวมประเทศจีนทางเหนือและทางใต้เข้าด้วยกันสำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติจีน แต่การล่มสลายของราชวงศ์ซุยนั้นเป็นผลมาจากการปกครองอย่างกดขี่ข่มเหงของรัฐที่มีต่อประชาชนของตัวเอง ในขณะที่โดนรัฐข่มเหง หลังจากประชาชนต้องเผชิญภาวะยากลำบากหลังจากการทำสงครามกับเกาหลี รวมถึงการสร้างคลองยักษ์ (the Great Canal) และการบูรณะกำแพงเมืองจีนทำให้รางวงศ์ซุยเสื่อมความศรัทธาและล่มสลายในที่สุด
ช่วงเวลาของราชวงศ์ถัง ถือได้ว่าเป็นช่วงระยะเวลาสามร้อยปีของประเทศจีน ที่เต็มไปด้วยความก้าวหน้าในหลายด้าน ทั้งด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราพบว่าในช่วงนี้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมีความมั่นคง ต่อเนื่อง และมีหลักฐานว่ามีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างหลายรัฐกันอย่างกว้างขวาง และในช่วงเวลานั้น เมืองหลวงฉางอัน (Chang’an) ได้ก้าวขึ้นเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก โดยพบว่ามีประชากรประมาณสองล้านคน เมืองฉางอันได้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในเมืองที่มีความสากลมากที่สุดในโลก ตามหลักฐานได้พบว่ามีชาวต่างชาติประมาณ 25,000 คนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง ซึ่งรวบรวมคนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวญี่ปุ่น, ชาวเกาหลี, ชาวเวียดนาม, ชาวอินเดีย, ชาวทิเบต, ชาวเปอร์เซีย และชาวเอเชียกลาง ตามกฎหมายแล้วชาวต่างชาติเหล่านี้สามารถแต่งงานกับชาวจีนได้อย่างถูกกฎหมาย แต่มีข้อบังคับว่าหากแต่งงานแล้วต้องพำนักอยู่ในประเทศหลังจากการแต่งงานเท่านั้น
นอกจากความหลากหลายทางเชื้อชาติแล้ว ความหลากหลายทางศาสนาเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับภายใต้การปกครองของราชวงศ์ถัง ในเมืองหลวงเราพบทั้งผู้นับถือพุทธ, อิสลาม, ยูดาห์, คริสต์เนสโตเรียน และศาสนาที่มากับชาวเปอร์เซียอย่าง ศาสนามานิเคอิซึ่ม และ โซโรแอสเตอ ส่วนศาสนาพุทธ ซึ่งเริ่มต้นมาจากประเทศอินเดีย ได้ถูกรับให้กลายมาเป็นศาสนาทางการของราชวงศ์ถัง จักรพรรดินีบูเช็กเทียน ได้เผยแพร่คัมภีร์แห่งเมฆา (Great Cloud Sutra) เพื่ออ้างสิทธิ์อันชอบธรรมในการขึ้นครองราชของพระองค์ เรื่องราวสุดอื้อฉาวนี้ได้กลายเป็นเรื่องราวหลักในภาพยนตร์เรื่อง “Detective Dee and the mystery of the Phantom Flame” โดยพระองค์ได้ก่อสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่โดยใช้ใบหน้าของพระจักรพรรดินีเป็นต้นแบบในการแกะสลักพระพุทธรูปที่ตอนนี้เป็นหนึ่งในมรดกโลกทางวัฒนธรรม
นักประวัติศาสตร์ยอมรับว่า การยอมรับในความหลากหลายนี้ ทำให้ช่วงเวลาของราชวงศ์ถังเป็นหนึ่งในยุคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวัฒนธรรมจีน บทกวีจีนได้พัฒนาไปถึงจุดสูงสุดของความสร้างสรรค์ ศิลปะหลายแขนงทั้งการแสดง ศิลปะ และวรรณคดีก็เฟื่องฟูมากในยุคนี้ การคิดค้นการพิมพ์ด้วยไม้ ได้มีบทบาทสำคัญในการกระจายตัวของวัฒนธรรมร่วมสมัย และยกระดับการอ่านหนังสือในหมู่ชนชั้นล่าง ความก้าวหน้าทางโหราศาสตร์และการเขียนแผนที่ ยังกลายเป็นปัจจัยที่ช่วยขยายมุมมองต่อโลกในหมู่นักวิชาการราชวงศ์ถังด้วย
การเคลื่อนที่ของวัฒนธรรม รวมทั้งข้าวสาลีและสินค้าอื่นๆในประเทศจีน ล้วนต้องเดินทางไปตามคลองแกรนด์ (Grand Canel) ซึ่งปัจจุบันนี้ ยังคงถือสถิติว่าเป็นคลองที่มีระยะทางยาวไกลที่สุดในโลก นอกจากนั้นรัฐของราชวงศ์ถังเองยังได้มีบริการไปรษณีย์ในประเทศจีน ซึ่งกินระยะทางรวม 32,000 กิโลเมตร โดยไปรษณีย์ในยุคนั้นขนส่งด้วยการใช้ม้า และเรือ ซึ่งการดูแลให้มีเป็นเรื่องที่สำคัญในการดูแลระบบราชการของรัฐ ในขณะเดียวกันเส้นทางสายไหมได้นำเทคโนโลยี แฟชั่น และสินค้าหรูหรามาสู่ประเทศจีน แลกเปลี่ยนกับสินค้าขึ้นชื่อของจีนอย่าง ผ้าไหม เครื่องเคลือบ และเครื่องเคลือบดินเผา
ภาพยนตร์เรื่องดังที่เล่าเรื่องราวช่วงเวลาของราชวงศ์ถังได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง “Temptation of a Monk”(1993) ของผู้กำกับคลาร่า ลอว์, ภาพยนตร์เรื่อง “Warriors of Heaven and Earth”(2003) ของผู้กำกับ เฮอ เผิง, ภาพยนตร์เรื่อง “House of Flying Daggers” (2004) ของผู้กำกับ จาง อี้โหมว และ ภาพยนตร์เรื่อง “Legend of the Demon Cat”(2017) ของผู้กำกับ เฉินข่ายเกอ แต่ภาพยนตร์เหล่านี้ล้วนเล่าเรื่องของชนชั้นสูง ในขณะที่เรื่องราวของนักสืบ ตี๋เหรินเจี๋ย เล่าเรื่องของคนเดินถนน และนำภาพของชีวิตในช่วงราชวงศ์ถังที่แท้จริงมาขึ้นจอเป็นครั้งแรก
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของแฟรนไชส์ภาพยนตร์แอ็คชั่น
ตลอดประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์จีน เราจะเห็นว่ามีวีรบุรุษเพียงไม่กี่คนในประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับชื่อดังหลายคนต้องกลับไปเล่าเรื่องของพวกเขาหลายต่อหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น หวง เฟยหง, ฟงไสหยก และยิปมัน วีรบุรุษอย่าง หวง เฟยหง ได้ปรากฎตัวในภาพยนตร์มากกว่า 100 เรื่องรวมถึงภาพยนตร์คลาสสิกเรื่อง Once Upon a Time in China ของผู้กำกับฉีเคอะ (Tsui Hark) ที่สร้างภาพยนตร์อัตชีวประวัติของเขาในปี 1990
นักสืบตี๋เหรินเจี๋ย ได้ถูกนำไปเล่าในแบบนิยาย และในซีรีส์โทรทัศน์ในหลายประเทศทั่วโลก เคยแม้แต่ได้รับบทโดยนักแสดงชาวอังกฤษ และชาวอเมริกันในจอทีวีตั้งแต่ปี 1960 และ 1970 อย่างไรก็ตามภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องของตี๋เหรินเจี๋ย ที่เพิ่งมีโอกาสได้สร้างเป็นภาพเคลื่อนไหวบนจอใหญ่ในภาพยนตร์เรื่อง “Blood Stains on the Screen” ของผู้กำกับ จ้าง ชีชาง (Zhang Qicang) ในปี 1986 โดยบทบาทของตี๋เหรินเจี๋ย รับบทโดยนักแสดงชาวจีนซุน จงเลี้ยง (Sun Zhongliang)
ผู้กำกับฉีเคอะ (Tsui Hark) ได้ตั้งใจที่จะพัฒนาแฟรนไชส์ภาพยนตร์แอ็คชั่นฮีโร่นักบู๊บทใหม่ด้วยการสร้างตัวละคร นักสืบตี๋เหรินเจี๋ย ขึ้นใหม่ ซึ่งกลายเป็นตัวละครที่ผู้ชมยุคใหม่ให้ความสนใจ ในระดับเดียวกับตัวละครฮีโร่แอ็คชั่นคลาสสิกอย่าง หวง เฟยหง, ฟง ไสหยก และยิปมัน ตัวละคร ตี๋เหรินเจี๋ย เองนั้นมีตัวตนจริงอยู่ในประวัติศาสตร์จีน ศตวรรษที่ 7 แต่ไม่เคยมีใครมองเขาเป็นนักบู๊แบบนี้มาก่อน
เรื่องราวของ นักสืบตี๋เหรินเจี๋ยในแบบของ ผู้กำกับฉีเคอะ (Tsui Hark) วางโครงมาจากสุภาพบุรุษที่มีความรู้และอาศัยอยู่ในยุคเฟื่องฟูของวัฒนธรรมจีนในยุคของราชวงศ์ถัง บทบาทของเขาในภาพยนตร์ไม่ได้วางให้ ตี๋เหรินเจี๋ย เป็นมนุษย์ที่เก่งไปหมด อาทิ เกร็ดเล็กๆ ที่ว่า ตี๋เหรินเจี๋ย ว่ายน้ำไม่ได้ แต่ ตี๋เหรินเจี๋ย ในเรื่องนี้ทั้งหล่อ มีความมั่นใจสูง แหลมคมทางความคิด เจ้าเสน่ห์ โลกทัศน์กว้าง จินตนาการเป็นเลิศ และควบคุมอารมณ์ได้ดี แต่เต็มไปด้วยความตลกแบบร้ายกาจ
ทีมงาน
- ผู้กำกับ ฉีเคอะ (Tsui Hark)
ฉีเคอะ (Tsui Hark) เกิดที่ประเทศเวียดนามเมื่อปี 1950 โดยทั้งบิดาและมารดาของเขาต่างเป็นชาวจีนอพยพ เขาเริ่มสนใจโลกภาพยนตร์ตั้งแต่ยังเด็ก ฉีเคอะ เริ่มถ่ายภาพยนตร์ด้วยกล้องฟิล์ม 8 มม. สุดคลาสสิกตั้งแต่ตอนที่อายุเพียง 10 ขวบ เขากับครอบครัวได้ย้ายไปอยู่ที่ประเทศฮ่องกง ตอนเขาอายุได้ 13 ปี เขาได้เดินทางไปศึกษาต่อที่รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เริ่มทำงานที่เมืองนิวยอร์ค ก่อนที่จะเดินทางกลับฮ่องกงในปี 1977 เพื่อทำงานกับสถานีโทรทัศน์ชื่อดังอย่าง TVB
ฉีเคอะ เปิดตัวด้วยผลงานในฐานะผู้กำกับอย่างน่าจดจำในปี 1979 กับภาพยนตร์เรื่อง The Butterfly Murders กับบริษัท Seasonal Film Corp ของ อึ้ง ซี-ยวน (Ng See-yuen) ฉีเคอะ เป็นผู้กำกับที่เต็มไปด้วยแรงผลักดันในการพัฒนาขอบเขตของภาพยนตร์ซึ่งเห็นได้จากเทคนิคพิเศษที่น่าตื่นตาในผลงานของเขา ในปี 1983 ภาพยนตร์ของเขาเรื่อง “Zu: Warriors from the Magic Mountain” แสดงให้เห็นถึงความพยายามถึงขนาดต้องดึงตัวผู้เชียวชาญด้านเทคนิคพิเศษ และสตั๊นแมนจากฮอลลีวูด เข้ามาร่วมในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้
ต่อมาเมื่อเดือนเมษายนปี 1984 ฉีเคอะ และ นานซุน ชี (Nansun Shi) ได้เปิดตัวสตูดิโอภาพยนตร์ของพวกเขาเองในชื่อว่า Film Workshop ซึ่งได้สร้างผลงานภาพยนตร์คลาสสิกที่ทุกคนต่างรู้จักกันดีในยุคปัจจุบันอย่าง โหด เลว ดี (“A Better Tomorrow” 1986), โปเยโปโลเย เย้ยฟ้าแล้วก็ท้า (“Chinese Ghost Story” 1987), โหดตัดโหด (“The Killer” 1989) , หวงเฟยหง (“Once Upon a Time in China” 1991) และ เดชคัมภีร์เทวดา 3 หมื่นปีมีข้าคนเดียว (“The East is Red” 1993) พวกเขาสร้างดาราดังอย่าง โจว เหวิน ฟะ (Chow Yun Fat), เลสลี จาง (Leslie Cheung) และ เจ็ท ลี (Jet Li) และสร้างชื่อให้กับนักแสดงชาวไต้หวัน หลิน ชิงเสีย (Brigitte Lin)
ฉีเคอะ มักจะหยิบยกเรื่องราวในการสร้างภาพยนตร์ของเขามาจากส่วนที่ดีที่สุดในอารยธรรมของประเทศจีน ตัวอย่างเช่นเรื่อง “Story of a Discharged Prisoner” ของ หลุนกง (Lun Kong) ก็ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง โหด เลว ดี (“A Better Tomorrow”) หรือ เรื่อง “One-Armed Swordsman” ของ ฉาง เช (Chang Cheh) ก็ถูกยกมาเล่าในภาพยนตร์เรื่อง “The Blade”, หรือการดัดแปลงนิยายศิลปะการต่อสู้ที่มีสีสันที่สุดของ จิน ยอง (Jin Yong) มาเล่าในภาพยนตร์ชุดเรื่อง “Swordsman” ของเขา และการนำตัวละครที่ทุกคนรู้จักอย่างหวงเฟยหงมาตีความใหม่ ผ่านภาพยนตร์เรื่อง “Once Upon a Time in China”
ในปี 2009 ฉีเคอะได้สร้างตัวละครใหม่ขึ้นมาใน “Detective Dee and the Mystery of the Phantom Flame” และสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ในหน้าภาพยนตร์จีนด้วยการถ่ายทำแบบสามมิติใต้น้ำครั้งแรกในภาพยนตร์ “Young Detective Dee: Rise of the Sea Dragon”
เมื่อปี 2014 เขายังได้นำละครโอเปรามาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง “The Taking of Tiger Mountain” ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมมากมายและทำให้เกิดความสนใจเพิ่มขึ้นในภาพยนตร์ย้อนยุคที่เขาโปรดปราน
ส่วนในภาพยนตร์เรื่อง “Detective Dee: The Four Heavenly Kings” ฉีเคอะยังคงพาเราไปค้นหาแง่มุมที่สนุกๆ ของยุคราชวงศ์ถังในแบบที่เขาสร้างขึ้น พร้อมกับคดีใหม่ๆ ที่น่าติดตาม
- ผู้อำนวยการสร้าง – เฉินกั๋วฟู่ (Chen Kuo-FU)
เฉินกั๋วฟู่ (Chen Kuo-FU) ได้พิสูจน์ตัวเองผ่านผลงานมากมายว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้สร้างภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกภาพยนตร์จีน นอกเหนือจากงานอำนวยการสร้างเขายังมีผลงานในฐานะนักวิจารณ์ภาพยนตร์, ผู้กำกับ, ผู้เขียนบทภาพยนตร์ และ ผู้อำนวยการสร้าง อีกด้วย
ในช่วงที่วงการภาพยนตร์ไต้หวันมีความสำคัญน้อยลง เฉินเป็นผู้กำกับคนแรกกล้าทำลายข้อจำกัดในวงภาพยนตร์เชิงศิลปะ และบุกเบิกการสร้างภาพยนตร์เชิงพาณิชย์ เขาได้สร้างผลงานภาพยนตร์โดดเด่นในประเทศไต้หวันหลายเรื่อง จนตัวเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำของกลุ่มภาพยนตร์กระแสหลัก (New Mainstream Cinema Movement) ผลงานของเขาในช่วงนี้ ได้แก่ภาพยนตร์เรื่อง “School Girls”, “Treasure Island”, “The Peony Pavilion” และ “The Personals” ซึ่งทุกเรื่องต่างกลายเป็นภาพยนตร์ที่สร้างปรากฏการณ์ในไต้หวันแล้วและยังกลายมาเป็นหนังที่คนดูต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นภาพยนตร์ที่ทุกคน “ต้องดู” ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันเอง ผู้กำกับชื่อดังชาวไต้หวัน โหวเซี่ยวเฉียน (Hou Hsiao-Hsien) กล่าวว่า เฉิน ได้ “ใส่ความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อจับต้องได้เข้าไปในภาพยนตร์เชิงพาณิชย์ที่เขาสร้าง” และยังมีสื่อมวลชนกล่าวว่า “เขาได้สร้างพื้นที่ใหม่ของการสร้างสรรค์ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไต้หวัน”
เฉินเข้าร่วมทำงานกับ Columbia Pictures ในปี 1999 และได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโปรเจ็คใหญ่ ๆ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง “Kung Fu Hustle” “Big Shot’s Funeral” และ “Crouching Tiger, Hidden Dragon” ในปี 2002 เฉินได้เขียนบท กำกับ และรับบทเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ระทึกขวัญเรื่อง “Double Vision” ซึ่งไม่เพียง แต่ทำเงินได้อย่างน่าทึ่งในไต้หวัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังนำชื่อเสียงของภาพยนตร์ไต้หวันในระดับนานาชาติกลับมาด้วย
ในช่วงเจ็ดปีที่เฉินได้เข้าทำงานร่วมกับบริษัทสร้างภาพยนตร์สัญชาติจีนอย่าง Huayi Brothers เขาได้เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์รวมทั้งหมด 14 เรื่อง ได้แก่ “Assembly”, “The Message”, “Aftershock”, ภาพยนตร์ชุดตี๋เหรินเจี๋ย, Taichi series “Panted Skin: The Resurrection” และ “Back to 1942” เป็นต้น ซึ่งรวมแล้วทำเงินไปรวมกว่า 15,180,000 เหรียญสหรัฐจากการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในหลายประเทศทั่วโลก
เฉินได้ก่อตั้งบริษัท CKF PICTURES ในปี 2010 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเอกลักษณ์และขยายตลาดของภาพยนตร์ที่พูดภาษาจีนให้มากที่สุด
- ผู้ออกแบบฉากแอคชั่น -หลิน เฟิง (Lam Fung)
ผู้กำกับฉากบู๊รุ่นใหม่ หลิน เฟิง (Lam Fung) เริ่มต้นอาชีพของเขาในฐานะนักแสดงแทนในเรื่อง “Swordsman” และ หวงเฟยหง (Once Upon a Time in China) ของผู้กำกับ ฉีเคอะ เขาเคยทำงานเป็นผู้ช่วย ผู้ออกแบบฉากแอ็คชั่น ในภาพยนตร์จีนเรื่องดังของ ผู้กำกับ อั้งลี่ เรื่อง “Crouching Tiger, Hidden Dragon” และ “Running on Time” ของ ผู้กำกับ จอนนี่ โท (Johnnie To) และได้ร่วมงานกับนักแสดงระดับตำนานอย่าง หยวน หวูปิง (Yuen Woo-ping), หง จินเป่า (Sammo Hung) และ ชิน คา-โลค (Chin Ka-lok) หลินได้พัฒนารูปแบบฉากแอคชั่นที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งไม่แค่ดุดัน แต่สามารถแสดงอารมณ์ของตัวละครได้ด้วย
ตัวละคร
- นักสืบตี๋เหรินเจี๋ย
หลังจากเกิดเรื่องมังกรทะเล จักรพรรดิเกาจง ประทับใจในตัวตี๋เหรินเจี๋ยมาก และพระราชทานพลองมังกรให้ด้วย แต่ภายใต้เรื่องราวอันดูสงบสุขนี้กลับคุกรุ่นไปด้วยอันตรายที่กำลังคืบคลานเข้ามา เพราะจักรพรรดินี บูเช็กเทียนมองว่าตี๋เหรินเจี๋ย คือศัตรูหลักของพระองค์ ตี๋เหรินเจี๋ย ต้องแก้ปริศนาครั้งนี้ให้ได้และกอบกู้ราชวงศ์ถังไว้ ในขณะที่ต้องต่อสู้กับอุปสรรคมากมายจาก จักรพรรดินีบูเช็กเทียน
รับบทโดย เจ้า โย่วถิง (Mark Chao)
เจ้า โย่วถิง สร้างชื่อจากภาพยนตร์ เรื่อง “Monga”, “So Young”, “Love”, “Black & White” หลังจากสำเร็จการศึกษาจาก University of Victoria ประเทศแคนาดา เขาก็ได้รับบทที่สร้างชื่อให้เขาทันทีในละครตำรวจเรื่อง “Black & White” และส่งให้เขาได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากงาน Golden Bell Award เขาได้เริ่มเข้ารับบทในจอใหญ่กับภาพยนตร์เรื่อง “Monga” ซึ่งจากบทในเรื่องนี้ เขาชนะรางวัลนักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยมในงาน Asian Film Award ครั้งที่ 5 เจ้า โย่วถิงเริ่มรับบท นักสืบตี๋เหรินเจี๋ย ในปี 2012 และครั้งนี้เขาก็ได้กลับมารับบทนี้อีกครั้ง
- อวี้จื้อเจินจิน (Yuchi Zhenjin)
อวี้จื้อเจินจิน (Yuchi Zhenjin) เป็นครูสอนกังฟู ซึ่งถูกแต่งตั้งให้เข้าร่วมหน่วยทหารโกลเด้นการ์ด และเป็นผู้รับผิดชอบความปลอดภัยของราชวงศ์ เขาเป็นทั้งเพื่อนสนิทและคู่ปรับของ ตี๋เหรินเจี๋ย อวี้จื้อเจินจิน ได้รับคำสั่งจาก จักรพรรดินีบูเช็กเทียน ให้ขโมยพลองมังกรจาก ตี๋เหรินเจี๋ย แต่เขาทำพลาด และถูกส่งไปขังที่เรือนจำ เขาพยายามที่จะคืนดีกับ ตี๋เหรินเจี๋ย และหยุดแผนล้มล้างราชวงศ์
รับบทโดย เฝิง เส้า เฟิง (Feng Shaofeng)
เฝิง เส้า เฟิง (Feng Shaofeng) จบการศึกษาจาก Shanghai Theater Academy เฝิงสร้างชื่อจากภาพยนตร์เรื่อง “White Vengeance”, “Young Detective Dee: Rise of Dragon Sea”, “Wolf Totem” เขาได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในงานรางวัล Hundred Flowers Award ครั้งที่ 33 จากผลงานภาพยนตร์เรื่อง Wolf Totem
- หลิน เกิงซิน (Lin Gengxin) รับบท ซาถัว จง (Shatuo Zhong)
ซาถัว จง (Shatuo Zhong) เป็นหมอที่เก่งกาจ และเป็นเพื่อนสนิทของ ตี๋เหรินเจี๋ย เขาฉลาดและซื่อสัตย์ แต่เขินตลอดเวลาต้องพูดคุยกับสาวๆ ในการผจญภัยคราวนี้ เขาจะได้พบกับเด็กสาวคนหนึ่งที่จะทำให้เขาพบทั้งความรัก และความอันตราย
หลิน เกิงซิน (Lin Gengxin)
หลิน เกิงซิน (Lin Gengxin) จบการศึกษาจาก Shanghai Theater Academy เขาสร้างชื่อจากภาพยนตร์เรื่อง “Young Detective Dee: Rise of the Sea Dragon”, “The Taking of Tiger Mountain”, “Journey to the West: The Demons Strike Back” ในปี 2013 เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม จากงาน Hong Kong Film Awards ครั้งที่ 33 ด้วยบทบาท ซาถัว จง (Shatuo Zhong) จากภาพยนตร์เรื่อง “Young Detective Dee: Rise of the Sea Dragon”
- หลิวเจียหลิง (Carina Lau) รับบท จักรพรรดินีบูเช็กเทียน
จักรพรรดินีบูเช็กเทียน เป็นคนไร้ความปราณีและทะเยอทะยาน ความกระหายในอำนาจของเธอทำให้เธอไม่ไว้ใจ ตี๋เหรินเจี๋ย ที่ได้รับมอบพลองมังกรมา แม้ตัวเธอจะรู้ว่าพลองนั้นเป็นแผนของ จักรพรรดิเกาจง ในการปรับสมดุลของอำนาจระหว่างเขากับเธอ เธอจึงต้องหาทางกำจัด ตี๋เหรินเจี๋ย ก่อนที่อะไรมันจะสายเกินไป ความกระหายในอำนาจของเธอทำให้เธอโดนกลุ่มผู้จ้องล้มล้างราชวงศ์ถังหลอกใช้ได้อย่างง่ายดาย
หลิวเจียหลิง (Carina Lau)
หลิวเจียหลิง (Carina Lau) เกิดที่เมืองซูโจวประเทศจีนในปี 1965 เธอและครอบครัวได้อพยพไปฮ่องกงเมื่ออายุ 14 ปี ภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอได้แก่ ภาพยนตร์แอ็คชั่นเรื่อง “Naughty Boys” ของผู้กำกับ เวลสัน ชินในปี 1986 โดย หลิวเจียหลิง ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแสดงตลกที่เป็นธรรมชาติในภาพยนตร์เรื่อง “He’s a Woman, She’s a Man” ซึ่งเธอได้แสดงคู่กับนักแสดงผู้ล่วงลับ เลสลี่ จาง ในผลงานกำกับของ ปีเตอร์ ชาน และรับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง “Forbidden City Cop” ซึ่งเธอแสดงคู่กับนักแสดงชื่อดัง โจว เหวิน ฟะ ซึ่งเป็นผลงานกำกับของ กู่ เต๋อเจา และรวมถึงผลงานของผู้กำกับ เจฟ ลอว์ เรื่อง “The Eagle Shooting Heroes”
แต่ผู้ชมยังคงจดจำ หลิวเจียหลิง ในภาพของนักแสดงภาพยนตร์โรแมนติกจากภาพยนตร์ผลงานกำกับของโทนี ออ ในภาพยนตร์เรื่อง “I am Sorry” ตลอดเส้นทางอาชีพนักแสดงของเธอ หลิวเจียหลิง ได้ร่วมงานกับผู้กำกับที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น Stanley Kwan, Ann Hui และ Hou Hsiao-Hsien ตัวละครที่น่าจดจำของเธอในช่วงกว่า 20 ปีในเส้นทางนักแสดงได้แก่ บทบาทนักเต้นเซ็กซี่ Lulu ในภาพยนตร์เรื่อง “Days of being Wild” ของ หว่องกาไว (Wong Kar-wai) และบทหัวหน้าแก๊งมาเฟีย Mary Hon จากภาพยนตร์เรื่อง “Infernal Affairs II” และบทบาทภรรยาที่เต็มไปด้วยความแค้นและกลับมาล้างแค้นของเธอในภาพยนตร์เรื่อง “Curiosity kill the Cat” ผลงานของผู้กำกับ จางอี้ไป๋
- หม่าซือฉุน (Ma Sichun) รับบทเป็น เงาดำ (Shadow)
เงาดำ (Shadow) เป็นสมาชิกของ The Mystics ซึ่งเป็นนักสู้สายชิงกง จักรพรรดินีบูเช็กเทียน ได้มอบหมายให้เธอเฝ้าติดตาม ต้าลีซี เงาดำเป็นคนหัวดื้อ และแข็งแกร่ง ในระหว่างการต่อสู้กับ ตี๋เหรินเจี๋ย และ ซาถัว จง เธอก็โดนลดเกราะที่เธอใช้ปกป้องหัวใจตัวเองลงทีละน้อย
หม่าซือฉุน (Ma Sichun)
หม่าซือฉุน (Ma Sichun) เป็นหนึ่งในดาราจีนที่ได้รับความนิยมอย่างเร็วที่สุดในวงการภาพยนตร์จีน ภาพยนตร์เรื่องแรกของเธออย่าง “The Left Ear” ได้ทำให้เธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมแห่งปีจากงาน Golden Horse Awards ครั้งที่ 52 ในปี 2016 เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม จากงานรางวัลภาพยนตร์ฮ่องกงครั้งที่ 36 และเธอได้รับรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมจากงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ Golden Horse Awards ครั้งที่ 53 จากภาพยนตร์เรื่อง “Soulmate”
- หร่วน จิงเทียน (Ethan Ruan) รับบทเป็น หยวนเชอ (Yuance)
หร่วน จิงเทียน (Ethan Ruan) สร้างชื่อจากบทบาทในภาพยนตร์เรื่อง “Monga”, Paradise in Service, The Liquidator ในปี 2010 เขาชนะรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากบทบาทในภาพยนตร์เรื่อง Monga ในภาพยนตร์เรื่องนี้เขารับบทตัวละครลับ